กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ-ฝนสะสม 6-15 ส.ค. เตือน “พายุโซนร้อนขนุน”

กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศและปริมาณฝนสะสมช่วง 10 วันข้างหน้า 6-15 ส.ค. เตือน “เหนือ-อีสาน-ตะวันออก” ฝนยังตกหนักต่อเนื่อง อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุม และหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม สปป.ลาว และเวียดนาม ส่วน “พายุโซนร้อนขนุน” คาดเคลื่อนขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นช่วงวันที่ 8-9 ส.ค. 66 เตือนไปญี่ปุ่นโปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง

วันที่ 6 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00น. ถึง 07.00น.วันรุ่งขึ้น) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 6 – 15 ส.ค. 66 อัพเดตจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) ว่า ในช่วงวันที่ 6-12 ส.ค.66 มรสุมมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับกระแสลมในระดับบน (500hPa) เป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุม ทำให้ทั่วไทย ยังมีเมฆมาก ฝนน้อยลง เว้นแต่บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง เนื่องจากอยู่ใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม สปป.ลาว และเวียดนาม

ส่วนภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก(จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา) ด้านรับมรสุม ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ช่วงบ่าย-ค่ำ เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุม ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักและฝนตกสะสมบริเวณภาคเหนือตอนบน และด้านตะวันตก ภาคอีสานตอนบน ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้

ขณะที่คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังปานกลาง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ในระยะนี้

ส่วนช่วง 13-15 ส.ค.66 มรสุมเริ่มแรงขึ้น เป็นช่วงที่ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออก ด้านรับมรสุม

สำหรับพายุโซนร้อนกำลังแรง”ขนุน (KHANUN)” ในทะเลจีนตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันออกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ มีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่ทางตอนใต้ประเทศญี่ปุ่น ในช่วง 6-8 ส.ค.66 ไม่มีผลกระทบกับสภาพอากาศบ้านเรา แต่ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางในระยะนี้ (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)

ดร.เสรี เตือนปีนี้ยังมีพายุอีก 19 ลูก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์  โดยเตือนว่า

ปีนี้กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ เอลนิโญ (El Nino) โดยระดับปัจจุบันประมาณ 1.1 oC และคาดการณ์จะเพิ่มขึ้นเป็น > 1.5 oC ในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทยจะรุนแรงมากขึ้น ร้อน แล้ง น้ำน้อย ตั้งแต่ 6-9 เดือน นับจากเดือนมกราคมปี 2567 วางแผนกันให้ดีน่ะครับ แนะนำไปแล้วหลายมาตรการ

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ที่ผ่านมาไต้ฝุ่นทกซูรีได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีน หนักที่สุดคงเป็นที่จีน ปริมาณฝน 3 วัน ที่มณฑลเหอเป่ย์ 1,003 มม. เท่ากับปริมาณฝนเฉลี่ย 6 เดือน ต้องไม่ลืมว่าก่อนพายุลูกนี้จะเข้าจีน ซึ่งเจอกับคลื่นความร้อนหลายสัปดาห์ โดยข้อมูลจำนวนพายุเกิดขึ้น มากกว่าปกติในปี El Nino ปีนี้คาดการณ์ประมาณ 29 ลูก (Accumulated Cyclone Energy, ACE = 382) จากเฉลี่ย 26 ลูก (ACE = 290)

ปัจจุบันมีพายุเกิดแล้ว 10 ลูก จึงเหลืออีกประมาณ 19 ลูกที่ยังคงจะเกิดตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนสิ้นปี โดยทั่วไป พายุมักรุนแรงในปี El Nino มีอายุยาวโดยเส้นทางการเดินทางไกล มักม้วนขึ้นบน เช่นกรณีไต้ฝุ่นทกซูรีเดินทางในทะเลประมาณ 2,000 km ทำให้สะสมพลังงานได้มาก และในขณะที่ขึ้นฝั่งที่มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นไต้ฝุ่น และเดินทางต่อเข้าไปยังมณฑลเหอเป่ย์กว่า 1,500 km จึงลดกำลังลง

พายุที่เหลืออยู่ในปีนี้ 19 ลูกมีโอกาสเข้าประเทศไทยไหม เข้าที่ไหน ไม่มีใครตอบได้ก่อนพายุเข้า 5 วัน ยกเว้นเอาค่าเฉลี่ยมาบอก 1-2 ลูก อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามสถิติปี El Nino ที่รุนแรงในอดีต ปี 2540 ไต้ฝุ่นลินดาเข้าที่ประจวบฯต้นเดือนพฤศจิกายน และ ปี 2558 ไม่มีพายุเข้าประเทศไทย แต่ต้องไม่ประมาท เพราะปีนี้พายุมีพลังงานสูง ถ้าเข้าประเทศไทยจะเกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน(อ่านข่าวเพิ่มเติม)

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6 – 7 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 12 ส.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

พยากรณ์ฝนสะสม 7 สิงหาคม 2566

พยากรณ์ฝนสะสม 7 สิงหาคม 2566© Matichon Public Co.,Ltd.

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (5 – 6 ส.ค. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก

พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก© Matichon
ที่มา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า