ชี้ กฟผ.ซื้อไฟ “เขื่อนปากแบง” เดินหน้าส่อทำไทยเสียดินแดน คนลุ่มน้ำโขงยื่นนายกฯ-รมว.พลังงาน เลิกสัญญา PPA

ชียงราย – เครือข่ายคนลุ่มน้ำโขงยื่นเรื่องด่วน..เรียกร้องนายกฯ-รมว.พลังงาน ทบทวน-ยกเลิกสัญญา กฟผ.ซื้อไฟเขื่อนปากแบง ชี้สวนทางไฟฟ้าสำรองใน ปท.ล้นถึง 45% ไม่พอ ส่อกระทบเกาะแก่ง-เส้นเขตแดน จนไทยอาจเสียดินแดนได้

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ร่วมกับเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ทำหนังสือด่วน ส่งถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (Power Purchasing Agreement:PPA) จากเขื่อนปากแบง กั้นน้ำโขง กับบริษัทปากแบง พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

โดยระบุข้อเรียกร้องว่าจากเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา มีข้อกังวลจะเกิดภาวะน้ำเท้อตลอดปีอันเกิดจากการกักเก็บน้ำของเขื่อน จนทำให้ชายแดนไทยที่ติดแม่น้ำโขงทั้ง อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน รวมทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำสาขา เช่น น้ำอิง น้ำงาว ฯลฯ ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

ซึ่งมีตัวอย่างกรณีเขื่อนจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา สป.จีน ที่ตั้งอยู่ห่างจากประเทศไทยมากกว่า 200 กิโลเมตร ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนท้ายน้ำมากว่า 20 ปี

นอกจากนี้กังลเรื่องการอพยพของปลาที่จะกระทบเพราะมีเขื่อนกั้น ชาวประมงแม่น้ำโขงเดือดร้อน ไก-สาหร่ายแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ชาวบ้านทั้ง 3 อำเภอเก็บขายได้ ก็จะไม่มีให้เก็บอีก สุดท้ายจะกระทบต่อเส้นเขตแดนชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่เดิมเคยมีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก จนอาจทำให้เกิดการเสียดินแดนได้

หนังสือร้องเรียนถึงนายกฯ ระบุด้วยว่า การลงนาม PPA ดังกล่าวไม่มีการรับข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่เลย โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐของไทยไม่ได้นำความคิดเห็น ข้อคัดค้าน และข้อกังวลของคนไทยไปประกอบการตัดสินใจลงนาม ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ส่งความคิดเห็นไปถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเวทีพูดคุยกับบริษัทผู้พัฒนาโครงการ คือบริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ในปี 2561 และปี 2562 แล้ว

นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยมีพลังงานสำรองมากถึง 45% จึงไม่จำเป็นต้องซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ดังนั้นจึงขอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้พิจารณาทบทวนและยกเลิกสัญญาดังกล่าว

ทั้งนี้ “เขื่อนปากแบง” ตั้งอยู่เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ลงไปทางน้ำใต้ประมาณ 96 กิโลเมตร ผู้ลงทุนคือบริษัท China Datang Oversea investment Co,Ltd ร่วมกับบริษัท กัลฟ์เอเนอยี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ของไทย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 51% และ 49% ตามลำดับ

เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งใหม่คาดว่าจะมีความกว้าง 15 เมตร ยาว 23 เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 317 เมตร ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 920 เมกะวัตต์ มีช่องขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 120 เมตร และสูง 4 เมตร เพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตันผ่านได้ และมีแผนจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ กฟผ.ถึง 95% ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดอีกด้วย

โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า