เชียงใหม่ – ทอท.จัดประชุมบฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 การศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ทั้งด้านอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ หลุมจอด และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเน้นย้ำความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ตั้งเป้ารองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคนต่อปี
เมื่อวานนี้(26 ส.ค.67)ที่ห้องประชุมแกรนด์นันทา บอลรูม 1-2 โรงแรมเช็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 การศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ : แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีนายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานเปิดงานและต้อนรับ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหน่วยงานองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมร่วม 300 คน
นายสุวิชา ฉิมะพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวรายงานว่า จากผลการศึกษางานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2567 ได้คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศและจำนวนผู้โดยสารของ ทอท. ในปัจจุบัน พบว่า มีปริมาณการจราจรทางอากาศและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ลานจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสารระบบถนนภายใน พื้นที่จอดรถยนต์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ จึงต้องมีการปรับปรุงองค์ประกอบของท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนต่อปี โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและได้มาตรฐานสากล เพื่อเป็นประตูสู่ล้านนาต่อไป
ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการไปจากที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ จึงต้องดำเนินงานเพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการดังกล่าว เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ดังนั้น ทอท. จึงได้ดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดโครงการขอบเขตการศึกษา การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ สำหรับนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกรอบการศึกษาของโครงการมีระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 9 เดือน สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2568
ขณะที่ น.ส.ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขออนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง รวมทั้งงบประมาณในการชดเชยอีไอเอด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านเสียง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม น้ำมัน อากาศ น้ำเสีย ทั้งระหว่างและหลังการก่อสร้าง ภายใต้งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งโครงการที่จะใช้เวลารวม 5 ปี จึงแล้วเสร็จและเปิดบริการเต็มศักยภาพ ซึ่งท่าอากาศเชียงใหม่มีศักยภาพในการอยู่รวมกันกับชุมชนมาตลอดเพราะสนามบินอยู่ใกล้ชุมชน โดยจะนำโมเดลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุง ทั้งภายในสนามบินและชุมชนรอบข้างให้อยู่ร่วมกันไม่เป็นปัญหา โดยเป็นการขยายเพื่อรองรับการเติบโตตามรันเวย์ที่รับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี แยกเป็นอาคารต่างประเทศ 13 ล้านคน และในประเทศ 7 ล้านคน ด้วยหลุมจอด 31 หลุม ประตูเชื่อม 16 แห่ง จากเดิมตอนนี้ที่มีความแออัดเพราะมีผู้โดยสารถึง 8 ล้านคนต่อปี การพัฒนาครั้งนี้จะลดความแออัดสามารถรองรับไปได้ถึง 20 ล้านคน
โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ครั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชม) ได้ว่าจ้างบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนค์ เอ็นจีเนียริง คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินงานและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาโครงการส่งกระทบต่อทรัพยากรรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและประชาชนในในบริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด การเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรกและจะมีอีกครั้งในช่วงสิ้นปีก่อนที่จะสรุปข้อมูลทั้งหมดเพื่อปรับแก้ไขก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป อันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายให้สอดคล้องตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ตลอดระยะเวลาการศึกษาของโครงการโดยสามารถติดตามข้อมูลโครงการฯ เพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์โครงการ www.eia-cnx.com