ทุจริต “สหกรณ์ ตร.ลำพูน” จับแล้วกราวรูดตั้งแต่อดีต ผจก.-จนท. เผยตำรวจลำพูนแบกหนี้ไม่ได้กู้ 208 ล้าน-ยึดทรัพย์มาได้แค่ 16 ล้าน

ลำพูน – จับดำเนินคดีแล้ว อดีต ผจก.-อดีต จนท.ฝ่ายสินเชื่อ การเงิน สหกรณ์ ตร.ลำพูน ปลอมเอกสาร/ลายเซ็นตำรวจกู้เงิน เสียหายอย่างต่ำ 208 ล้านบาท ตามยึดอายัดกระเป๋าแบรนด์เนม-ทรัพย์สินคืนได้แค่ 16 ล้าน แต่ปีนี้อดได้ปันผลจนเดือดร้อนกันหมด

กรณีปมปัญหาทุจริตเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก ส.ส.ลำพูน พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ หยิบยกขึ้นมาแถลงข่าวที่ห้องแถลงข่าว อาคารรัฐสภา วันนี้ (28 ก.ย. 66)

โดยระบุว่า มีการปลอมแปลงเอกสาร-ปลอมลายเซ็น เพิ่มยอดกู้/แอบอ้างชื่อตำรวจชั้นผู้น้อย กู้เงินสหกรณ์ฯ ทำให้ตำรวจที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ เสียหาย 423 ราย คิดเป็นเงินกว่า 220 ล้านบาท พร้อมเรียกร้องให้ว่าที่ ผบ.ตร.ตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ตำรวจทั่วประเทศอย่างจริงจังนั้น

เรื่องราวดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2566 เป็นต้นมา หลัง จนท.ตำรวจได้ตรวจสอบการกู้เงินสหกรณ์จากแอปพลิเคชัน Smart Member ได้พบความไม่ชอบมาพากล เพราะตัวเองไม่ได้กู้เงินสหกรณ์ แต่มีรายการกู้เงินปรากฏขึ้น จึงได้แจ้งความเอาผิดอดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน พร้อมฝ่ายสินเชื่อ และฝ่ายบัญชี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสืบสวนสอบสวน จนพบว่ามีการทำผิดจริง ฐานร่วมกันปลอมแปลงเอกสารกู้เงินในแบบต่างๆ เช่น กู้สามัญ กู้ฉุกเฉิน เป็นต้น ปลอมแปลงเอกสารลายมือชื่อของข้าราชการตำรวจหลายนาย สวมสิทธิ์เบิกเงินไปใช้ส่วนตัว บางรายการโอนให้ผู้กู้จริง แต่ส่วนใหญ่โอนเงินเข้าบัญชีอดีตผู้จัดการสหกรณ์และพวก รวมจำนวน 208 ล้านบาท

ข้าราชการตำรวจบางนายเป็นหนี้ที่ตนไม่ได้เป็นผู้กู้ แต่ต้องตกเป็นหนี้เพราะถูกปลอมเอกสารและลายมือชื่อ นำไปกู้เงินสหกรณ์ฯ บางคนมีวงเงินสูงสุด มากกว่า 1 ล้านบาท และบางรายยอดเงินที่ว่าน้อยแล้ว เป็นหนี้มากกว่า 1 แสนบาท รวมเดือดร้อนกันจำนวนมากกว่า 423 ราย

จนกระทั่งมีการสืบสวนจับกุมดำเนินคดีผู้จัดการสหกรณ์ ฝ่ายสินเชื่อ และฝ่ายการเงิน เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 รวมทั้งตรวจยึดอายัดทรัพย์สินเป็นของใช้ เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่า 16 ล้านบาท และอยู่ในขั้นตอนขยายผลการตรวจยึดทรัพย์สินอื่นๆ ต่อไป

ขณะที่ในการประชุมสมาชิกสหกรณ์ฯ ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา พล.ต.ต.บุณยวัต เกิดกล่ำ ผบก.ภ.จว.ลำพูน แจ้งในที่ประชุมว่า จะงดเก็บดอกเบี้ยสำหรับสมาชิกที่ยื่นกู้กับสหกรณ์ไว้ก่อน 2 เดือน เพื่อช่วยสมาชิก แต่สมาชิกที่ไม่ได้กู้เงินสหกรณ์ก็ไม่เห็นด้วย พร้อมเสนอนำกำไร 80 ล้านบาท ชดใช้หนี้ที่เสีย รวม 3 ปี ในที่ประชุมก็ไม่ยอม

ขณะที่ สนง.ตรวจบัญชี ผู้ตรวจสอบบัญชี และนักวิชาการสหกรณ์ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ก็ให้ความเห็นว่า เมื่อบัญชีสหกรณ์ปีนี้มีความเสียหาย 208 ล้านบาท มีกำไร 80 ล้านบาท บวกทรัพย์ที่ยึดมาได้เพียง 16 ล้านบาท มีทุนสำรอง 118 ล้านบาท ทุนสำรองปีงบประมาณถัดไป +6 ถือว่าขาดทุน จึงไม่สามารถนำไปปันผลได้ แต่สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมประชุมก็ไม่เห็นด้วย ทำให้หาข้อสรุปไม่ได้อีกเช่นกัน

ส่วนปัญหาที่ จนท.ตำรวจ และสมาชิกสหกรณ์ ที่ถูกปลอมเอกสารกู้เงิน หรือถูกสวมสิทธิ์กู้เงิน ก็จะนำเอกสารการแจ้งความมาดำเนินการเคลียร์บัญชีให้ และจะมีการนัดประชุมสรุปปัญหากันต่อไปอีกครั้งหนึ่ง

พ.ต.อ.ยุทธนา แก่นจันทร์ รอง ผบก.ภ.ลำพูน ในฐานะที่ปรึกษาสหกรณ์ตำรวจภูธร จ.ลำพูน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีอดีตเจ้าหน้าที่สหกรณ์ตำรวจภูธร จ.ลำพูน สวมสิทธิ์โกงเงินสมาชิกสหกรณ์ตำรวจภูธร จ.ลำพูน ว่าล่าสุดได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ประกอบด้วยอดีตผู้จัดการ และอดีตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกหลายราย ยึดทรัพย์เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำการทุจริตได้ 16 ล้าน ส่วนทรัพย์สินที่เหลือเจ้าหน้าที่ได้ยื่นเรื่องให้ ปปง.ตรวจสอบและอยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดลำพูนให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวว่าตนเป็นสมาชิกสหกรณ์ แต่ไม่ได้เป็นตำรวจกลุ่มที่ถูกสวมสิทธิ์เงินกู้ ซึ่งก่อนหน้านี้กู้เงินและฝากเงินไว้กับสหกรณ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งทุกปีจะได้รับเงินปันผลปีละประมาณ 6 หมื่นบาท แต่ปีนี้ตนไม่ได้รับเงินปันผล ภรรยาที่อยู่ต่างพื้นที่ก็มารอฟังข่าวว่าจะได้รับเงินปันผลเมื่อไหร่เพราะต้องนำเงินก้อนดังกล่าวไปลงทุนและใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้ขณะนี้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ว่าพฤติการณ์การทุจริตของกลุ่มผู้ต้องหาก็คือ เมื่อสมาชิกมายื่นขอกู้เงิน จะปลอมแปลงเอกสารเปลี่ยนสัญญาเงินกู้โดยเพิ่มจำนวนตัวเลขจากกู้ 1 ล้านบาท เป็น 1.2 ล้านบาท แต่จ่ายเป็นเงินสดให้กับสมาชิกเพียง 1 ล้านบาท ซึ่งผู้กู้ถูกหักค่างวดผ่านบัญชีธนาคารจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่สหกรณ์อื่นจะให้ธนาคารจ่ายเงินกู้ผ่านบัญชีธนาคารแทนการจ่ายเงินสดจึงสามารถตรวจสอบยอดเงินกู้จริงได้

 

โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า