นักวิชาการ-นักประวัติศาสตร์ ตั้งโต๊ะเสวนา “เปิดความลับเชียงแสน” อู่อารยธรรมเลือกรับ-ปรับใช้

เชียงราย – นักวิชาการ-ประวัติศาสตร์ร่วมวงเสวนา “ไทยแลนด์เบียนนาเลเชียงราย ; เปิดความลับเชียงแสน” ชี้เป็นอู่อารยธรรม เลือกรับและปรับใช้ ไม่ได้ลอกเลียน ทั้งจากศิลปะหริภุญไชย พุกาม สุโขทัย ขอม ลังกา ฯลฯ แม้โดนตีเมืองแตก-ถูกเทครัว ยังพกฝีมือช่าง-การจดบันทึก เผยแพร่ไปทั่ว

เมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มฟล. เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนาเรื่อง “ความลับของเชียงแสน (The secret of Chiang Saen) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล เชียงราย 2023

ซึ่งมีศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานในเชียงแสน และนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเสวนาอธิบายถึงการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะของชาวเชียงแสนในอดีต ฯลฯ

รศ.ดร.พลวัฒกล่าวว่า เชียงแสนมีการจัดกิจกรรมทางศิลปะในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติหลายแห่ง ทั้งที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ต.เวียงเชียงแสน โบราณสถานหมายเลข 16 (ในเมือง) โกดังห้วยเกี๋ยงบนถนนสายเชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำ วัดป่าสัก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ฯลฯ เพราะเชียงแสนมีความลับที่สลับซับซ้อน บางเรื่องจัดทำในรูปแบบภาพยนตร์ บางเรื่องเป็นภาพแผนที่ที่มีข้อความต่างๆ และภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน ฯลฯ

ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักวิจารณ์ศิลปะ กล่าวว่า สิ่งที่บ่งบอกถึงการพัฒนาศิลปะในเชียงแสนคือการสร้างเจดีย์วัดป่าสัก ต.เวียง อ.เชียงแสน ในยุคของพญาแสนภู ซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลาน) ของพญามังราย หรือพ่อขุนเม็งรายมหาราช โดยเป็นกษัตริย์ล้านนาพระองค์ที่ 3

ซึ่งได้สร้างเจดีย์วัดป่าสักให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนฐานล่าง มีพระพุทธรูปปางยืน 3 องค์สลับกับเทวดาที่ขนาบซ้ายและขวา และส่วนกลาง มีพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ขณะที่ส่วนบนสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง จากลักษณะของศิลปะทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าพญาแสนภูนำศิลปะจากหลายอาณาจักรมาพัฒนาปรับปรุงตัดทอนบางอย่างและเพิ่มบางอย่างในแต่ละช่วงของเจดีย์ให้เป็นศิลปะเชียงแสน

บางอย่างปรับเลี่ยงศิลปะของนิกายมหายาน เช่น ฐานเจดีย์ที่เคยมี 5 ชั้นตามลัทธิมหาชนก็พัฒนาเหลือแค่ชั้นเดียว ฯลฯ เจดีย์ยังมีเทวดารอบ ซึ่งมีลักษณะเหมือนศิลปะศรีสัชนาลัย พระพุทธรูปเป็นปางเปิดโลกและมีปางลีลา 1 องค์ มีส่วนประดับฐานเจดีย์หรือสถูปิกะเป็นสิงห์ทั้ง 4 มุม เป็นศิลปะผสมระหว่างพุกามกับหริภุญไชย มีมกรที่เป็นสัตว์ในจินตนาการที่ผสมระหว่างจระเข้กับช้าง ซึ่งในอินเดียมีเพียงมกร แต่ตามสถานที่อื่นมกรจะคายเฉพาะสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่ที่วัดป่าสักออกแบบให้มกรคายสิงห์ คายนกหัสดีลิงค์ คายนาค และยังมีครุฑอยู่คู่กันด้วย ฯลฯ

ทั้งนี้ คาดว่าเกิดจากการที่พญาแสนภูเมื่อครั้งยังเยาว์วัยทรงอยู่ที่ลำพูนนานถึง 2-3 ปี จึงได้เรียนรู้และนำมาพัฒนาเป็นศิลปะที่เชียงแสนที่มีความงดงามและได้สัดส่วน ซึ่งศิลปะยุคต้นล้านนาเช่นนี้ถือว่าหาได้ยากมากและเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือที่วัดป่าสัก

“สรุปความลับของวัดป่าสักเชียงแสนคือเป็นสถาปัตยกรรมที่รวบรวมสถูปหลากหลายรูปทรงมาไว้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งสถูปทรงพีระมิด ทรงปราสาทเจดีย์ทรงระฆังห้ายอด เป็นการหลอมรวมงานศิลปกรรมของสกุลต่างๆ มาใช้ได้อย่างแยบยลในลักษณะเลือกรับและปรับใช้ ไม่ได้ลอกเลียน ทั้งจากศิลปะหริภุญไชย พุกาม สุโขทัย ขอม ลังกา ฯลฯ” ดร.เพ็ญสุภากล่าว

อาจารย์ภูเดช แสนสา นักประวัติศาสตร์ล้านนา กล่าวว่าเชียงแสนเป็นเมืองที่น่าสนใจเพราะนับตั้งแต่สถาปนา พ.ศ. 1871 เป็นต้นมาก็กลายเป็นเมืองที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ไปทั่วภาคเหนือจนถึงเมืองศรีคิ้ว แม้เมื่อเมืองถูกตีแตกและประชากรถูกเทครัวไปยังเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ ชาวเชียงแสนในอดีตก็นำฝีมือช่างและอื่นๆ ทั้งสิ่งปลูกสร้าง การจดบันทึกไปเผยแพร่ด้วย ปรากฏให้เห็นหลักฐานตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่ จ.แพร่ ลำปาง เชียงใหม่ ฯลฯ

แสดงให้เห็นว่าชาวเชียงแสนมีการจดบันทึกอย่างต่อเนื่อง อย่างผู้ที่ถูกเทครัวไปอยู่เมืองสีคิ้วก็บันทึกข้อมูลเป็นภาษาล้านนาหรือคำเมืองให้ได้เห็นอยู่ นอกจากนี้ยังมีช่างเหล็กที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชาวเชียงแสน ผ้าลายตีนจกซึ่งแพร่หลายไปตามพื้นที่ต่างๆ แม้แต่พระพุทธรูปที่งดงามก็เป็นศิลปะเชียงแสน ฯลฯ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า