พม่า-ลาวกดปุ่มเปิดขนสินค้าผ่านสะพานข้ามโขงแห่งแรกแล้ว ห่างแม่สาย 106 กม. ร่นระยะทางเชื่อมจีนได้อีก

สามเหลี่ยมทองคำ – เมียนมา-ลาวกดปุ่มเปิดขนสินค้าข้ามสะพานน้ำโขงแห่งที่ 1 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง หลังสร้างเสร็จ 8 ปีมีแต่ให้คนข้ามไปมา เผยห่างเส้นทางอาร์สามเอเพียง 100 กว่ากิโลฯ อนาคตกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่ง 4 ชาติลุ่มน้ำโขงตอนบนแน่

เมียนมา และ สปป.ลาวได้เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงเมียนมา-สปป.ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างเมืองเชียงลาบ รัฐฉาน ประเทศเมียนมา กับเมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว เพื่อการขนส่งสินค้าอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกแล้ว สร้างแล้วเสร็จตั้งแต่กลางปี 2558 แต่ที่ผ่านมามีสถานะเป็นเพียงด่านพรมแดนที่อนุญาตให้คนเมียนมาและคนลาวทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวหรือบอเดอร์พาส ข้ามไปมาได้เท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้กับคนชาติอื่นหรือรถขนส่งสินค้าผ่าน

กระทั่งสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 ส.ค. 66) ทางการเมียนมาและ สปป.ลาว ได้ร่วมกันจัดพิธีเปิดจุดตรวจสินค้าบริเวณด่านพรมแดนทั้งสองฝั่งอย่างเป็นทางการ เพื่อเปิดให้มีการขนส่งสินค้าระหว่างเมียนมา-สปป.ลาว แล้ว ภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง แต่ยังคงอนุญาตให้เฉพาะรถขนส่งสินค้าของเมียนมาและ สปป.ลาวเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ชาติอื่นลำเลียงสินค้าผ่าน

ในพิธีเปิดมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมหลากหลาย เช่น นายอูอ่องไหน่ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แม่ทัพภาคสามเหลี่ยม ผู้ว่าการ จ.ท่าขี้เหล็ก ด่านศุลกากรท่าขี้เหล็ก ผู้บริหารจาก สปป.ลาว และแขวงหลวงน้ำทา ฯลฯ และคณะผู้แทนจากหอการค้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย เดินทางไปร่วม รวมทั้งมีการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าด้วย

ซึ่งการเปิดให้มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเมียนมา-สปป.ลาว ทางสะพานข้ามแม่น้ำโขงดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ เพราะยังไม่เคยมีสะพานเชื่อมถึงกันมาก่อนและในอดีตมีเพียงการติดต่อกันทางเรือแม่น้ำโขงเป็นหลัก

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การเปิดจุดตรวจสินค้าที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงระหว่างประเทศเมียนมา-สปป.ลาวดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้มีการก่อสร้างอาคาร ติดตั้งระบบตรวจสอบทางศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ฯลฯ เอาไว้พร้อมสรรพ จะทำให้มีการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างทั้งสองประเทศโดยตรงคึกคักมากขึ้น

ลักษณะของจุดตรวจสะพานเมียนมา-ลาว แห้งนี้จะเหมือนกับด่านหมากยางในท่าขี้เหล็ก ชายแดนติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หรือด่านมูเซ-ลุ่ยรี่ ชายแดนระหว่างเมียนมา-จีน ซึ่งยังไม่ใช่ด่านสากลที่จะเปิดให้ประเทศที่สามเดินทางเข้าออกหรือขนส่งสินค้าได้

แต่สะพานข้ามน้ำโขงเมียนมา-ลาว ก็จะมีผลต่อการค้าชายแดนในย่านนี้อยู่ไม่น้อย เพราะสะพานตั้งอยู่ห่างจากจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย เพียงประมาณ 100 กิโลเมตร และจากจุดนี้สามารถขึ้นเหนือไปยังชายแดน สปป.ลาว-จีน ตรงด่านปางไฮติดกับมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้ด้วยระยะทางที่ใกล้มาก จึงคาดว่าหลังจากนี้จะทำให้การค้าในอนุภูมิภาคนี้คึกคักมากขึ้นตามมา

รายงานข่าวแจ้งว่าสะพานข้ามแม่น้ำโขงเมียนมา-สปป.ลาว แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปทางเรือแม่น้ำโขงประมาณ 106 กิโลเมตร ใกล้สะพานยังมีท่าเรือเชียงกก ซึ่งเป็นเมืองท่าในแม่น้ำโขงของ สปป.ลาว จากท่าเรือดังกล่าวสามารถเดินทางทางเรือไปยังมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในระยะทางอีกประมาณ 167 กิโลเมตร แต่หากใช้เส้นทางทางบกจากสะพานไปยังด่านปางไฮเพื่อเข้าสู่เมืองมาง มณฑลยูนนาน จะมีระยะทางอีกเพียงประมาณ 71 กิโลเมตรเท่านั้น ตัวสะพานยังตั้งอยู่ห่างจากถนนอาร์สามเอที่เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย-สปป.ลาว-จีน ประมาณ 130 กิโลเมตร ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งของ 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย สปป.ลาว เมียนมา และจีน

สะพานข้ามน้ำโขงเมียนมา-สปป.ลาว แห่งที่ 1 สร้างด้วยงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลเมียนมากับ สปป.ลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2556 และสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2558 ตัวสะพานมีความยาว 691.60 เมตร กว้าง 10.9 เมตร สามารถรองรับน้ำหนักรถบรรทุกสิบล้อที่มีน้ำหนัก 75 ตันได้ รวมทั้งมีการวางระบบใต้สะพานให้เรือบรรทุกสินค้าหนัก 599 ตันกรอสแล่นเรือลอดผ่านได้

อนึ่ง มีรายงานว่าหลังก่อสร้างแล้วเสร็จใหม่ๆ ทางการ สปป.ลาวได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไปรอรับการขนส่งสินค้าพร้อมสรรพแต่ฝั่งประเทศเมียนมาประสบปัญหาเรื่องข้อตกลงกับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกลุ่มว้าที่มีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่นอกด่านพรมแดนทำให้ต้องมีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติกันอยู่นานหลายปี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า