“ผัก” เป็นอีกหนึ่งในอาหารหลักที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับคนทั่วทั้งดลก เรียกว่าเป็นอาหารคู่ครัวคู่โต๊ะอาหารของเรามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายและมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทุกบ้านทุกครัวเรือนไม่ว่าใครก็ต้องมีอาหารจานผักกินอยู่ทุกวัน แต่รู้หรือไม่ว่าผักนั้นแม้มีประโยชน์แต่หากกินโดยไม่รู้ก็อาจส่งผลเสียได้ โดยเรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือน อันตราย ผัก 5 ชนิด ไม่ควรรับประทานแบบดิบ
กระทรวงสาธารณสุขเผย ผัก 5 ชนิดไม่กินดิบ ควรปรุงให้สุกก่อน ถึงแม้ “ผัก” เป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งเมนูอาหารส่วนใหญ่นิยมนำผักสดมารับประทานคู่กับอาหาร อย่างไรก็ตามผักสดบางชนิดไม่ควรรับประทานแบบดิบ
โดยในเรื่องนี้สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อเท็จจริงว่า ผักบางชนิดไม่ควรรับประทานแบบดิบเพราะมีสารบางชนิดในตัวเองหรือมีการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตราย ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ผัก 5 ชนิด ที่ไม่ควรรับประทานแบบดิบ คือ
1. กะหล่ำปลี เพราะมีสารออกซาเลตที่ทำให้เกิดโรคนิ่วและยังพบสารกอยโตรเจน ที่ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง
2. ถั่วงอก พบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและสารฟอกขาว
3. ถั่วฝักยาว เป็นพืชที่มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชสูง
4. หน่อไม้ มีสารไซยาไนด์ที่เป็นอันตราย แต่สามารถกำจัดได้ด้วยความร้อนที่นานมากกว่า 10 นาทีขึ้นไป
5. ผักโขม มีกรดออกซาลิกสูง อาจทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและธาตุเหล็กได้น้อยลง
ด้วยความห่วงใยจากสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) ขอแนะนำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการรับประทานผัก 5 ชนิดแบบดิบ รวมถึงควรล้างผักทุกชนิดให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมารับประทานและประกอบอาหารเพื่อลดการปนเปื้อนของสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค และสารเคมีทางการเกษตร
หากผู้บริโภคสงสัยว่าอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีลักษณะไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งได้ที่สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) โทร. 0 2590 1619 หรือ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสายด่วนปคบ. โทร. 1135 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ