เชียงใหม่เปิดแล้วครบ 16 สาขา! สนง.ที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ทำนิติกรรมออนไลน์เชื่อม 5 จว.

เชียงใหม่ – กรมที่ดินรองบรัฐบาลใหม่ สแกนโฉนดอีก 25 ล้านแปลงเข้าระบบ เดินหน้าเปิด สนง.ที่ดินอิเล็กทรอนิกส์-ทำนิติกรรมออนไลน์ หลังเปิดบริการใน กทม.ทั้ง 17 สาขา ล่าสุดเปิดที่เชียงใหม่ครบ 16 สาขา รวมถึงอุบลราชธานี หนองคาย และบึงกาฬ พร้อมเตรียมเปิดบริการที่สงขลาต่อเร็ววันนี้

นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานเปิดสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ ต่างสำนักงานแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องการจดทะเบียนที่ดินผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมโยงกับจังหวัดกรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี หนองคาย และบึงกาฬ ได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำธุรกรรมที่ดิน เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา

อธิบดีกรมที่ดินเปิดเผยว่า ปีที่แล้วปี 65 เราได้เปิดให้บริการจดทะเบียนต่างสำนักงานแบบออนไลน์ทุกสาขา 17 แห่งในกรุงเทพมหานครมาแล้ว และในปี 66 นี้ ก็เปิดที่อุบลราชธานี 10 แห่ง หนองคาย 3 สาขา บึงกาฬ 2 สาขา และที่เชียงใหม่ทั้ง 16 สาขาของสำนักงานที่ดินที่เชียงใหม่

ต่อไปนี้ทุกจังหวัดทุกสาขาที่เราเปิดให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ พี่น้องประชาชนอยู่ที่ไหนก็ไปติดต่อทำธุรกรรมนิติกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรต่างๆ ได้ เช่น ที่ดินอยู่ที่อุบลฯ แต่ตัวมาอยู่ที่เชียงใหม่ ปกติต้องไปจดทะเบียนซื้อขายกันที่อุบลฯ ตอนนี้ถ้าผู้ซื้อผู้ขายอยู่ที่เชียงใหม่ก็มาจดทะเบียนรับบริการได้ที่สาขาไหนก็ได้ หรือว่าตัวอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ว่าที่ดินอยู่ที่สำนักงานที่ดินสาขาไหนก็ได้ที่สะดวก ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายแก่พี่น้องประชาชน

แต่ต้องจองคิวรับบริการจดทะเบียนแบบออนไลน์ผ่าน Application smartland ในเมนูย่อยที่เรียกว่า eqland ล่วงหน้า 3 วันและเจ้าหน้าที่จะเตรียมข้อมูลแล้วนัดวันเวลาให้ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ผู้โอน-ผู้รับโอนมาจดทะเบียนได้ตามสำนักงานที่ดินที่สะดวก

ส่วนจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 4-5 จังหวัดดังกล่าวจะเป็นอย่างไร นายชยาวุธกล่าวว่า กรมที่ดินกำลังทยอยเปิดแบบที่เชียงใหม่ในจังหวัดอื่นอีก อย่างที่จังหวัดสงขลา ในปีงบประมาณ 67 เราก็จะไปเปิดที่ขอนแก่น ปทุมธานี สมุทรปราการ แล้วก็นนทบุรี และถ้าได้รับงบประมาณจากรัฐบาลใหม่ เราก็จะเร่งรัดเปิดให้เร็วที่สุด เพราะยังมีโฉนดที่ดินที่ยังไม่ได้สแกนเข้าในระบบอีก 25 ล้านแปลง

นายชยาวุธเปิดเผยต่อไปว่า กรณีข่าวขายที่ดินทิพย์ พฤติการณ์ก็จะมีลักษณะขึ้นป้ายตามริมถนน-ถ่ายรูปเสร็จก็เก็บป้ายเลยแล้วก็ไปขายทางออนไลน์ คนไม่รู้ไม่เห็นในสื่อออนไลน์ก็อาจจะหลงเชื่อแล้วก็ไปเสียเงินเสียทอง ซึ่งพฤติการณ์แบบนี้ถือเป็นการฉ้อโกง ดังนั้นผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินก่อน ขณะที่เจ้าหน้าที่หากพบเห็นก็ต้องดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกไปด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยรอให้คนพลาดท่าเสียทีแล้วค่อยมาดำเนินคดีเขาทีหลัง มันอาจจะไม่ทันการณ์

และขณะนี้เราตรวจพบว่ามีพี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งจารกรรมข้อมูลเบอร์โทรศัพท์-ชื่อ-กรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือคอนโดมิเนียม แอบอ้างปลอมลายมือชื่อ-ทำเอกสารราชการปลอม ส่งไลน์ไปหลอกพี่น้องประชาชนให้กดลิงก์ตาม จนโดนหลอกโอนเงิน-ดูดเงิน เสียหายกันเป็นจำนวนมาก รวมมูลค่าหลายล้าน

ซึ่งขณะนี้ทางกรมที่ดินได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว และอยู่ระหว่างการสืบสวนว่าข้อมูลรั่วไหลจากที่ไหน อาจจะรั่วไหลจากกรมที่ดินเอง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับข้อมูลสิ่งปลูกสร้างอาคารชุด หากพบก็ต้องดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด ก็ขอฝากเตือนไว้ด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า