6 วิธีปรับพฤติกรรม ลดเสี่ยง “ความดันโลหิตสูง” ด้วยตัวเอง

ความดันโลหิตสูง นับเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบสาธารณสุขทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงจะสืบเนื่องกับอายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้นตามไปด้วย โดย สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็น ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day)

ทั้งนี้ นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดี กรมการแพทย์ ระบุว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต โดยเน้นให้ประชาชน รู้ค่าระดับความดันโลหิตและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของตนเอง ตลอดจนการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาระดับความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอล และน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งเป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attacks) ไตวาย และตาบอด เป็นต้น

ด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่ามีความดันเลือดสูงกว่าปกติ คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการได้ เช่น เวียนศีรษะ ตาพร่า เหนื่อยง่ายผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์ เพื่อควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตในระยะยาว สามารถทำได้โดยการใส่ใจสุขภาพ และพยายามลดพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น

วิธีปรับพฤติกรรมลดความเสี่ยง “ความดันโลหิตสูง”

1. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน

3. ไม่สูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4. จัดสรรเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม นอนหลับให้เพียงพอ

5. ลดภาวะเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย

6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อวัดระดับความดันโลหิต ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ต้องคอยควบคุมอาการไปตลอด เป็นต้น

สำหรับวิธีการวัดความดันด้วยตนเองที่บ้านนั้น นายแพทย์เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้อุปกรณ์วัดความดันบริเวณต้นแขนที่มีมาตรฐาน ตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที

2. ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย

3. นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนัก เพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต

4. วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ

5. ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว โดยค่าความดันโลหิตปกติตัวบนไม่เกิน 120 มิลลิเมตรปรอท สำหรับตัวล่างไม่เกิน 70 มิลลิเมตรปรอท ในการวินิจฉัยความดันโลหิตสูง หากวัดความดันที่บ้าน ตัวบนมีค่ามากกว่า 135 มิลลิเมตรปรอท และตัวล่างมีค่ามากกว่า 85 มิลลิเมตรปรอท

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทานผักผลไม้ จำกัดการทานอาหารที่มีรสเค็มจัด และหมั่นตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ตรวจพบอาการได้เร็วขึ้น และลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ด้วย

ที่มา เรื่องราวโดย Thansettakij

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า