3 ปัจจัยเหตุใดวงการสงฆ์ไทย เกิดกรณีฉาวแบบ “เจ้าคุณอาชว์-สีกากอล์ฟ” บ่อยครั้ง

พระ เงิน และ ผู้หญิง คือสามสิ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนในวงการพุทธศาสนาในไทยอีกครั้ง โดยล่าสุดมีพระชั้นผู้ใหญ่ต้องปาราชิกไปแล้วอย่างน้อย 8 ราย หลังพบว่าพัวกันกับสีกาวัย 35 ปี โดยมีเงินอย่างน้อยสิบล้านบาทเข้ามาข้องเกี่ยว

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ จ.หนองคาย เมื่อตำรวจได้รับคลิปไม่เหมาะสมระหว่าง พระเทพวชิรปาโมกข์ (อาชว์ อาชฺชวปเสฏฺโฐ) หรือ “เจ้าคุณอาชว์” เจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหารในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) กับหญิงที่ถูกเรียกว่า “สีกากอล์ฟ” และต่อมาพบว่าพระรูปนี้ชิงสึกที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ในตอนแรก ตำรวจสงสัยว่าอดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพ อาจซ้ำรอยกรณีอดีตเจ้าคุณแย้ม หรือ พระธรรมวชิรานุวัตร อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง จ.นครปฐม กับ “สีกาเก็น” วัย 28 ปี ซึ่งเชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์วงเงินกว่า 800 ล้านบาท

ทว่า เมื่อเข้าตรวจสอบบัญชีเงินวัดของอดีตเจ้าคุณอาชว์ และบ้านของสีกากอล์ฟ ใน จ.นนทบุรี เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทางกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) พบจีวรพระไม่ทราบที่มาหลายผืนภายในบ้านของหญิงดังกล่าว และตรวจยึดโทรศัพท์มือถือได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งบรรจุภาพและคลิปมากกว่า 80,000 ไฟล์ แสดงพฤติกรรมที่นำไปสู่การปาราชิกของพระชั้นผู้ใหญ่อีกหลายรายในเวลาต่อมา ดังรายชื่อต่อไปนี้

  1. พระเทพวชิราปาโมก์ (เจ้าคุณอาชว์) อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีทศเทพวรวิหาร กทม.
  2. พระเทพวชิรธีราภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉายวรวิหาร จ.สระบุรี
  3. พระเทพวชิรธีรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม.
  4. พระครูปลัดสิริวิรยธาดา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
  5. พระครูปลัดสุรพล วัดพรหมเกษร จ.พิษณุโลก
  6. พระมหาบุญเลิศ วัดใหม่ยายแป้น กทม.
  7. พระเทพพัชราภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชูจิตธรรมาราม จ.พระนครศรีอยุธยา (มีรายงานข่าวว่าสึกแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ)
  8. พระเทพปวรเมธี อดีตรองเจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาส กทม. (มีรายงานข่าวว่าสึกแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ)

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าจากการตรวจสอบคลิปภาพต่าง ๆ พบว่ามีพระอย่างน้อย 10 วัด เชื่อมโยงกับสีกากอล์ฟ และในตอนนี้มีรายชื่อพระที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 13-15 ราย โดยตำรวจ บก.ปปป. มุ่งตรวจสอบเส้นทางการเงินระหว่างพระสงฆ์และสีกากอล์ฟ เพื่อดูว่าเข้าข่ายทุจริต เช่น นำเงินวัดไปใช้จ่ายส่วนตัวหรือไม่ เนื่องจากเส้นทางการเงินในเบื้องต้นพบว่าสีกากอล์ฟเองก็โอนเงินให้กับพระบางรูป หรือรับเงินจากพระบางรูปมา โดยจำนวนเงินมีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักสิบล้านบาท

ไร้เดียงสาในประสบการณ์ทางโลก

นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้ฉายา “สีกากอล์ฟ” ว่า “นารีพิฆาต” จากพฤติกรรมที่เขามองว่าเธอเข้าหาพระระดับเจ้าคณะด้วยจุดประสงค์ไม่ดี แต่เรื่องเช่นนี้เกิดจากการตบมือของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่าการถือครองพรหมจรรย์ของนักบวช ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือพุทธเถรวาทนั้น ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างหนึ่ง เนื่องจากเรื่องเพศเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเมื่อนักบวชต้องเผชิญการยั่วยุ ก็อาจเพลี่ยงพล้ำเปิดจุดอ่อนด้านนี้ได้ แต่สำหรับกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวอยู่นี้ เขามองว่าทั้งหญิงและชายมีความผิด แต่พระสงฆ์มีส่วนรับผิดชอบมากกว่า

“จะบอกว่าพระถูกหลอก คงไม่ใช่ นี่ไม่ใช่พระบวชใหม่ไร้เดียงสา แต่เขาเป็นพระราชาคณะ เป็นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง บางรูปเป็นครูบาอาจารย์สอนคน บางรูปเป็นศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ เพราะฉะนั้นหากพระวางตัวเคร่งในหลักธรรม ต่อให้มาในรูปแบบไหนก็ทำอะไรไม่ได้” เขากล่าว

สุรพศยังมองว่ากรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในประวัติศาสตร์ข่าวฉาววงการสงฆ์ของไทย เหตุพระชั้นผู้ใหญ่ทยอยปาราชิกจำนวนมากเช่นนี้ เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งส่วนตัวเขาเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในวงการสงฆ์ “อาจมากกว่าที่ปรากฏออกมาเป็นข่าว” ด้วยซ้ำ

3 ปัจจัยเหตุใดวงการสงฆ์ไทย เกิดกรณีฉาวแบบ “เจ้าคุณอาชว์-สีกากอล์ฟ” บ่อยครั้ง© Getty Images

ด้าน ผศ.ดร.ประกีรติ สัตสุต นักวิชาการด้านพุทธศาสนาและการเมือง จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า พระที่บวชเรียนมาตั้งแต่เด็กไม่ได้มีประสบการณ์ในเรื่องทางเพศหรือเรื่องเพศตรงข้ามมาก่อน ทำให้เมื่อเจอสิ่งยั่วยุ พวกเขาก็อาจอ่อนไหวไปเองได้ง่ายและไม่ทันคน หรือไร้เดียงสากับเรื่องพวกนี้ เนื่องจากประสบการณ์ชีวิตของพระสงฆ์ส่วนใหญ่อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบปิด พระบางรูปอาจมุ่งไปทางวิชาการ ขณะที่บางรูปมุ่งไปทางงานบริหารคณะสงฆ์ ซึ่งไม่ใช่ประสบการณ์ชีวิตทางโลกที่คนทั่วไปได้รับ

“พระที่บวชเรียนมาตั้งแต่สามเณร และเติบโตขึ้นมาในคณะสงฆ์ จะอยู่ในโลกที่อยู่ภายในวัด ภายในคณะสงฆ์ ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องเพศศึกษา การพูดคุยถกเถียงเรื่องวินัยเพื่อรักษาพรหมจรรย์มีอยู่จริง แต่ไม่เท่ากับการมีประสบการณ์จริงที่ทำให้เรียนรู้การจัดการอารมณ์ความรู้สึกเมื่อเจอเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน” ผศ.ดร.ประกีรติ กล่าว

เขายังอธิบายต่อด้วยว่าพรรษาและชั้นยศ ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าพระรูปนั้นจะมีความอดทนอดกลั้นทางเพศได้มากกว่าเสมอไป

“บางทีอายุเยอะขึ้น แล้วหลุดง่ายกว่าตอนอายุน้อย ๆ ก็มี” นักวิชาการจาก มธ. กล่าว “เรื่องนี้ไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่พระที่พยายามรณรงค์และพูดเรื่องนี้เยอะก็ยังอาจโดนเองได้”

ผลประโยชน์รอบตัวพระชั้นผู้ใหญ่

กรณีฉาวของสีกากอล์ฟ ทำให้พระระดับเจ้าคณะต้องทยอยสึกเป็นใบไม้ร่วง ซึ่งแน่ชัดแล้วว่า 8 รายชื่อเบื้องต้นไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้ายของเรื่องนี้

คำถามคือพระชั้นผู้ใหญ่มีอะไรน่าดึงดูดใจที่นอกเหนือไปจากรูปกายที่เห็นได้ด้วยตาหรือไม่ หากเรามองว่าความชอบและความพึงพอใจเป็นเรื่องของมนุษย์ที่พึงเกิดได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ นักวิชาการทั้งสองรายต่างหยิบยกประเด็นผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบตัวพระระดับเจ้าคณะขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์นี้โดยไม่ได้นัดหมาย

“พระเหล่านี้พอเขาขึ้นไปสูง ๆ มันมาพร้อมกับเรื่องลาภยศสักการะ” ผศ.ดร.ประกีรติ กล่าว

เขาให้ความเห็นต่อว่าคนไทยยังศรัทธาในพุทธศาสนาไม่เคยเสื่อมคลาย และผู้คนก็พร้อมบริจาคเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนาอยู่เสมอ เห็นได้จากจำนวนเงินบริจาคแต่ละปีที่ไม่เคยลดลง โดยปกติแล้วเงินบางส่วนจะเข้าไปยังบัญชีกลางของวัด และมีอีกส่วนหนึ่งที่ญาติโยมถวายส่วนตัวกับพระซึ่งถือว่าเป็นเงินที่ตรวจสอบได้ยาก

“สมมติท่านมีสมณศักดิ์สูง มีตำแหน่งปกครองสูง โยมที่เข้าหาท่านก็จะมีตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงบนสุด เช่น ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจใหญ่ ๆ ไปจนถึงพวกราชนิกูล คนเหล่านี้เวลาถวายปัจจัย เขาไม่ได้ถวายเฉพาะเข้าวัด แต่เขาถวายเงินจำนวนมากให้กับตัวพระด้วย มันก็มีเรื่องตรงนี้ที่เป็นผลประโยชน์ ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวท่านอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนรอบข้างด้วย”

3 ปัจจัยเหตุใดวงการสงฆ์ไทย เกิดกรณีฉาวแบบ “เจ้าคุณอาชว์-สีกากอล์ฟ” บ่อยครั้ง© Getty Images

เช่นเดียวกัน นายสุรพศเห็นว่าสิ่งที่ดึงดูดให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่งเข้าหาพระชั้นผู้ใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าพระชั้นผู้ใหญ่มีรายได้และผลประโยชน์จำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่งพระราชาคณะที่มีรายได้จากเงินนิตยภัตรายเดือนที่มาจากภาษีประชาชน รวมถึงเงินได้จำนวนมากจากการรับกิจนิมนต์

“พอมีรายได้เข้ามาเยอะ มันก็มีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่รู้เรื่องพวกนี้ แล้วก็รู้ว่าพระมีจุดอ่อนเรื่องอะไร” นายสุรพศ กล่าว

ผศ.ดร.ประกีรติ อธิบายต่อว่าปัจจุบันนี้ คนมีเงิน เหล่าคหบดี เหล่าข้าราชการระดับสูง นิยมนิมนต์พระชั้นผู้ใหญ่ที่พวกเขาศรัทธาไปที่บ้าน เพื่อทำบุญเป็นการส่วนตัว และนี่อาจทำให้เกิดการหละหลวมเรื่องการรับกิจนิมนต์ขึ้นมาได้ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีพระเลขาหรือทีมเลขานุการคอยดูแลตารางงานและกิจนิมนต์ต่าง ๆ

ผศ.ดร.ประกีรติ กล่าวต่อว่าในบางครั้งทีมเลขาหรือตัวพระชั้นผู้ใหญ่เองอาจให้อภิสิทธิ์ในการเข้าถึงกับกลุ่มคนเหล่านี้มากกว่าโดยไม่รู้ตัวหรืออาจทำต่อ ๆ กันมาจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ โดยหลงลืมไปว่าลูกศิษย์ที่เป็นถึงข้าราชการระดับสูง นายทหาร นายตำรวจ อาจเข้าหาพระเหล่านี้ก็เพราะมีผลประโยชน์อื่น ๆ แอบแฝงด้วย ไม่ใช่แค่ต้องการเข้าถึงหลักธรรมคำสอนเท่านั้น

“หลาย ๆ ครั้งที่คนเหล่านี้มาหาพวกท่าน ไม่ใช่เพราะต้องการทำบุญ แต่ต้องการโอกาสก้าวหน้าในชีวิตของเขา เขาอาจมาช่วยฝากลูกศิษย์คนอื่นที่เป็นอธิบดีอะไรอย่างนี้ บอกว่ามีคนอยากเข้าทำงาน ฝากหน่อยได้ไหม บางทีถึงกับขั้นมีการพูดกันว่าบางวัดมีทหารเข้าเยอะ ลูกศิษย์ลูกหาเป็นทหารเยอะ จนโผทหารทำกันในวัดเลยด้วยซ้ำ” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในกรณีสีกากอล์ฟยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะว่าเธอเข้าถึงพระระดับเจ้าคณะได้มากขนาดนั้นได้อย่างไร แต่กรณีข้างต้นก็ทำให้เห็นแล้วว่าการถูกนิมนต์ไปยังบ้านญาติโยมเป็นการส่วนตัวนั้นอาจเกิดขึ้นได้ หากลูกศิษย์คนดังกล่าวมีอภิสิทธิ์เชื้อเชิญได้มากพอ

การตักเตือน-ตรวจสอบกันเองของคณะสงฆ์ไม่ได้ผล

อีกคำถามสำคัญคือเหตุใดการตักเตือนหรือทำโทษในหมู่คณะสงฆ์จึงไม่เกิดขึ้น หลังเห็นภาพหลุดบางส่วนที่แสดงให้เห็นพระระดับชั้นผู้ใหญ่ไปอยู่บ้านสีกากอล์ฟเป็นระยะเวลาหลายวันโดยไม่ระแคะระคาย

ผศ.ดร.ประกีรติ อธิบายว่าในสังคมพระสงฆ์ของไทยนั้น ความอาวุโสมาจากพรรษาที่มาจากการบวช และโดยข้อเท็จจริงแล้วการกล่าวตักเตือนกันเองในหมู่คณะสงฆ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยโครงสร้างการปกครองที่เป็นแบบบนลงล่าง และมีระบบอุปถัมภ์ค่อนข้างสูง ประกอบกับทีมเลขานุการมักถูกแต่งตั้งหรือได้รับยศถาบรรดาศักดิ์จากพระผู้ใหญ่มาอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นถึงแม้ทราบว่าเกิดเหตุไม่ปกติขึ้น แต่การว่ากล่าวตักเตือนอาจนำภัยมาสู่ตนมากกว่า

“นอกจากนี้ ถ้าเกิดสมมติเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ดูแลผลประโยชน์ แล้วศูนย์กลางของผลประโยชน์หายไป เขาก็ย่อมสูญเสียผลประโยชน์นั้นไปด้วย อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องภาพลักษณ์ต่อคณะสงฆ์และพุทธศาสนาในวงกว้าง ที่นี้พอไม่เกิดการตักเตือนกัน ศีลและจริยาวัตรก็ย่อมไม่แข็งแรง” ผศ.ดร.ประกีรติ วิเคราะห์

ด้านนายสุรพศให้ความเห็นว่า รูปแบบการปกครองของพระสงฆ์ไทยนั้นเป็นระบบอำนาจนิยม เช่น ระบบพระราชาคณะต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ระบบตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แต่เป็นเรื่องที่รัฐกำหนดขึ้นมา

“มันจึงเป็นระบบอำนาจนิยมคล้าย ๆ กับราชการไทยที่พระเอกก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนพระลูกวัดเป็นชั้นผู้น้อย และเมื่อเห็นอะไรไม่เหมาะสม พวกเขาก็ไม่กล้ามีปากมีเสียง เพราะการถูกไล่ออกจากวัดมันง่ายมาก” นักวิชาการอิสระผู้นี้กล่าว และตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเรื่องฉาวส่วนใหญ่ในวงการสงฆ์มักเกิดขึ้นจากคนภายนอกมากกว่าภายใน ซึ่งทำให้เห็นความล้มเหลวของการตรวจสอบกันเองของคณะสงฆ์และมหาเถรสมาคม

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ประกีรติ เห็นต่างในประเด็นนี้ และมองว่าในวงการสงฆ์ยังมีคนพร้อมจะเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลอยู่ แต่พวกเขาแค่ไม่ได้เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ เนื่องจากกังวลว่าตนเองอาจเป็นอันตรายจากการพูดความจริง และโดยข้อเท็จจริงภายในคณะสงฆ์ก็ยังมีความเคลื่อนไหวภายในที่ต้องการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น แม้เป็นไปอย่างเชื่องช้าก็ตาม

เหตุฉาวนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์หรือไม่

ผศ.ดร.ประกีรติ สัตสุต เห็นว่าประชาชนยังศรัทธาในศาสนาและอยากเห็นความเปลี่ยนในวงการสงฆ์ที่ดีขึ้น© THAI NEWS PIX

นายสุรพศมองว่ากรณีฉาวครั้งนี้ อาจทำให้วงการสงฆ์ระส่ำระส่ายได้เพียงชั่วครู่ และสักพักหนึ่งวงการนี้ก็จะ “move on” หรือเดินหน้าต่อไปโดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในเชิงระบบ เนื่องจากเห็นได้ว่าพระมีชื่อเสียงหลายรูปต่างออกมาแก้ต่างว่ากรณีสีกากอล์ฟนั้นเป็นปัญหาที่พฤติกรรมของบุคคล แทนที่จะมองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

“ในอดีตก็เคยมีกรณีพระยันตระ พระนิกร สุดท้ายข่าวมันก็เงียบไปเองโดยที่ระบบการปกครองของสงฆ์ไม่ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด” สุรพศกล่าว

เขาแสดงทัศนะด้วยว่าระบบสมณศักดิ์และการอุปถัมภ์ศาสนาพุทธของรัฐ ทำให้พระมุ่งแสวงหาอำนาจมากกว่ายึดมั่นในหลักธรรมวินัย และในอีกด้านหนึ่งมันก็ทำให้เกิดผลประโยชน์ที่เย้ายวนผู้ที่อยู่รอบกายหรือแม้แต่ตัวพระเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วประวัติศาสตร์ก็จะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง และกรณีฉาวเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

ด้าน ผศ.ประกีรติ เห็นว่ามหาเถรสมาคมควรกอบกู้ความเชื่อมั่นโดยการดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ทำงานร่วมกันกับตำรวจ และสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

“คณะทำงานชุดนี้ควรนำเอารายชื่อที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาดูว่าใครที่เข้าข่าย จากนั้นจึงพักงานจากทุกตำแหน่งจนกว่าความจริงจะปรากฏ” นักวิชาการจาก มธ. กล่าว “สิ่งสำคัญคือการทำให้ความจริงปรากฏ เพื่อให้ประชาชนคลายความเคลือบแคลงสงสัยในความบริสุทธิ์ของคณะสงฆ์”

“อยู่ที่ว่ามหาเถรสมาคมจะยอมตัดแขนตัดขาบางส่วนเพื่อรักษาองค์กรหรือไม่” ผศ.ดร.ประกีรติ กล่าว

ทว่า มีสิ่งหนึ่งที่อาจารย์จาก มธ. ไม่เห็นด้วยอย่างมาก นั่นคือความคิดที่จะรื้อฟื้นกฎหมายคุ้มครองปกป้องพุทธศาสนาที่ให้โทษอาญาต่อผู้ที่ทำให้คณะสงฆ์มัวหมอง หรือผู้ที่ละเมิดศาสนา (blasphemy laws) โดยกฎหมายดังกล่าวทางมหาเถรสมาคม และ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กำลังร่วมกันผลักดันอยู่

ผศ.ดร.ประกีรติ มองว่ากฎหมายลักษณะนี้ขัดต่อเสรีภาพการแสดงออก เพราะพระสงฆ์อาจ “ถืออภิสิทธิ์มาปิดปากคนด้วยกฎหมาย” ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพระใช้กฎหมายมาปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเขามองว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์ในตอนนี้ ไม่ได้เป็นน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเกลียดชัง ตรงกันข้ามพุทธศาสนิกชนกำลังพยายามส่งเสียงให้วงการศาสนาปรับปรุงให้ดีขึ้น

“มันเป็นเสียงที่แสดงความห่วงใย การที่เขาออกมาวิจารณ์ไม่ใช่ว่าเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา”

นอกจากนี้ โดยข้อเท็จจริงแล้ว พระสงฆ์มีพระวินัยเป็นของตนเอง หากพระทำผิดวินัย เช่น ปาราชิก ก็ควรจัดการไปตามพระวินัยนั้น ไม่จำเป็นต้องนำโทษอาญาแบบกฎหมายบ้านเมืองมาใช้กับกรณีของสงฆ์

“เราต้องเตือนทั้งสองด้านเลยนะ ตัวคณะสงฆ์เองก็ต้องบอกท่านว่าคนเขาวิจารณ์เพราะรัก ส่วนฆราวาสก็ต้องมาทบทวนว่าพระมีกฎของตัวเองอยู่ ให้เขาจัดการกันไป แต่เราเลือกที่จะศรัทธาและเคารพได้” ผศ.ดร.ประกีรติ บอกกับบีบีซีไทย

ที่มา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า