ฤดูฝนเปิดฉาก 15 พ.ค. นี้ ไทยต้องกังวลน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน ?

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าวันที่ 15 พ.ค. นี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และคาดว่าฤดูนี้จะสิ้นสุดช่วงกลางเดือน ต.ค. ปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมรอระบาย จนทำให้มีความกังวลว่า สถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกจะเป็นอย่างไร

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำท่วมปี 2568 รวมถึงเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ ที่คาดว่าจะมาเยือนในฤดูฝนนี้

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดฝนตกชุกหนาแน่นช่วง ส.ค.-ก.ย. และมีพายุหมุน 1-2 ลูก

ดร.สุกันยานี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวผ่านเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงานว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในวันพรุ่งนี้ (15 พ.ค.)

เธอกล่าวว่าปริมาณฝนทั่วประเทศในช่วงฤดูฝนปี 2568 มีปริมาณรวมใกล้กับค่าปกติ (1,500 มม.) แต่ในบางที่อาจมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย โดยเฉพาะในเดือน ส.ค. และ ก.ย. ที่มีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของบริเวณประเทศไทยตอนบน

“เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมจากฝนที่ตกสะสม หรือน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าว

กรมอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ด้วยว่า ปีนี้น่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทย 1-2 ลูก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จึงขอเตือนให้ประชาชนเตรียมอุปกรณ์สำหรับเหตุฉุกเฉิน อาหารแห้ง น้ำดื่ม และยาประจำตัว แบตเตอรีสำรอง และวิทยุทรานซิสเตอร์ไว้ล่วงหน้า ตลอดจนรู้จักเส้นทางหรือสถานที่ปลอดภัยใกล้บ้าน เพื่อจะได้เคลื่อนย้ายทันเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้น

“อาจต้องเสริมความแข็งแรงของบ้านเรือน ตรวจสอบและซ่อมแซมส่วนที่อาจได้รับความเสียหายจากลมแรงอันเนื่องมาจากพายุ” ดร.สุกันยานี กล่าว

ฤดูฝนเปิดฉาก 15 พ.ค. นี้ ไทยต้องกังวลน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน ?© THAI NEWS PIX

ขณะเดียวกัน อาจต้องระวังพายุไซโคลนที่อาจก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามันในเดือน พ.ค. นี้ และอาจเคลื่อนตัวมาใกล้ด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา หรือที่เรียกว่าสภาวะเอนโซ (ENSO) ทางอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า สภาวะเอนโซของไทยอยู่ที่ค่ากลางไปตลอดปีนี้ ดังนั้นประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญหรือลานีญา แต่กระนั้นยังต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกอย่างใกล้ชิด

เตือนบางพื้นที่เสี่ยงฝนน้อยกว่าปกติ-ฝนขาดช่วง

ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนปี 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 1,512 มม. ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติ ยกเว้นตอนบนและตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางพื้นที่ของภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ และ นครศรีธรรมราช ที่อาจมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ

ขณะที่การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ถึงช่วงต้นเดือน ก.ค. ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร ดังนั้นเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่มาไม่สม่ำเสมอในช่วงนี้ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพืชผล

นักวิชาการชี้ไม่ต้องกังวลน้ำท่วมใหญ่-ควรกังวลปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนใหญ่ดีกว่า

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเตือนภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า จากข้อมูลคาดการณ์น้ำฝนของปีนี้ในภาพรวมสามารถสรุปได้ว่าปริมาณฝนจะตกชุกแค่เพียงช่วงต้นฤดูราวเดือน พ.ค. ถึง เดือน มิ.ย. แต่ช่วงฤดูฝนจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติหรือเทียบเท่าค่าปกติในบางพื้นที่ แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมใหญ่เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีฝนปริมาณมากสะสมต่อเนื่องตลอดฤดูทั้ง 6 เดือน

กระนั้น รศ.ดร.ยังเตือนด้วยว่า ไม่ใช่เหตุอุทกภัยจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะพื้นที่ไหล่เขาและชุมชนเมืองคือจุดเปราะบางที่ควรเฝ้าระวังภัยจากน้ำไหลหลาก รวมถึงน้ำท่วมขังรอระบาย โดยเฉพาะในเชตชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ประกอบกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้โลกยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนถึงตอนนี้ ยังทำให้บางพื้นที่ของไทยจะเสี่ยงเจอฝนตกหนักฉับพลันในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงจุดเดียว หรือที่เรียกว่า “ระเบิดฝน” (Rain bomb) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฤดูฝนเปิดฉาก 15 พ.ค. นี้ ไทยต้องกังวลน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน ?© Getty Images

เขาอธิบายต่อว่า จากการพัฒนาและขยายชุมชนเมืองออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำก่อนชะลอระบายลงสู่ทางน้ำหลัก ทำให้ชุมชนเมืองต่าง ๆ ขาดความสามารถในการระบายน้ำที่ดี ดังนั้น ในช่วงระยะเร่งด่วนนี้ทางเทศบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ควรเร่งจัดการให้ระบบระบายน้ำสามารถรองรับน้ำฝนที่กำลังตกในช่วงต้นฤดูให้ได้ ซึ่งการคาดการณ์จากหลายแหล่งระบุตรงกันว่า ฝนจะตกชุกหนาแน่น

“แต่ในระยะยาวคงต้องมีการผลักดันออกกฎหมาย ให้หาพื้นที่ไม่ใช่ประโยชน์ขนาดใหญ่ในเมือง หรือหาพื้นที่ขนาดใหญ่ ๆ อื่น ๆ สัก 5-10 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ก่อนก่อนระบายเข้าสู่ระบบของหลวง ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการระบายน้ำภาพใหญ่เป็นไปได้ดีขึ้น” รศ.ดร.เสรี เสนอแนะ

เมื่อสอบถามว่าต้องกังวลเรื่องการจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ช่วงหน้าฝนนี้หรือไม่ รศ.ดร.เสรี บอกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องกังวลว่า เขื่อนจะระบายน้ำและทำให้เกิดอุทกภัย ควรจับตาว่า ปลายฤดูฝนจะมีน้ำสำรองเข้าเขื่อนใหญ่เพียงพอต่อการทำเกษตรในช่วงหน้าแล้งของปีถัดไปหรือไม่มากกว่า เนื่องจากฝนจะมีปริมาณน้อยลงเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน

ที่มา

BBC News (ไทย)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า