เชียงใหม่ – เชียงใหม่ประชุมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องวางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเขตตัวเมืองและการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ หลังพายุ “วิภา” จ่อเคลื่อนตัวเข้าพื้นที่ภาคเหนือในช่วงสัปดาห์หน้าและเสี่ยงทำเกิดฝนตกหนัก
นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ และการจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนรับมือฝนตกหนักจากอิทธิพลร่องมรสุมและพายุโซนร้อนวิภา ในช่วงวันที่ 21–24 ก.ค.68 ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก และเสี่ยงน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม โดยจังหวัดเชียงใหม่วางแผนแก้ไขจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัย 13 จุดสำคัญ ดำเนินการแล้วเสร็จใน 8 จุด อาทิ พื้นที่ถนนห้วยแก้ว ย่านช่างเคี่ยน สี่แยกตลาดต้นพยอม หน้ากองพันสัตว์ต่าง หน้าหมู่บ้านสวัสดิการทหาร ซึ่งมีการเจาะแบริเออร์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และยกระดับผิวจราจรเพื่อรองรับน้ำหลาก
ขณะเดียวกันมี 2 จุด ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ สี่แยกข่วงสิงห์ หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน้ากาดฝรั่ง ส่วนอีก 3 จุด ที่ต้องมีการแก้ไขระดับโครงสร้างและสัมพันธ์กับงบประมาณ คือ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, กาดก้อม และชุมชนศรีปิงเมือง โดยในที่ประชุมมีมติจัดทำแผนขุดขยายหน้าตัดแม่น้ำปิงและสิ่งลุกล้ำลำน้ำเพิ่มเติม ต่อเนื่องจากการขุดลอกปี 2568 เพื่อเพิ่มการไหลของน้ำ พร้อมมอบหมายสำนักงานที่ดินและหน่วยงานด้านโยธาออกแบบแผนงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงเช้าวันนี้นั้น ล่าสุดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากวานนี้มีความกังวลว่าจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่ จากผลกระทบของฝนหนักทางตอนบนของจังหวัด ไหลผ่านตัวเมืองและระดับน้ำจะสูงถึงจุดวิกฤติ ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมาระดับน้ำที่สถานีตรวจวัด P.1 สะพานนวรัฐ ขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 2.81 เซนติเมตร ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากและลดลงตามลำดับ เป็นผลดีจากการเร่งขุดลอกแม่น้ำปิงและเปิดประตูระบายน้ำท่าวังตาลทั้ง 6 บาน ทำให้สามารถรองรับมวลน้ำได้ดีขึ้น
ขณะที่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก–แม่งัดสมบูรณ์ชล จะเริ่มพร่องน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ในอัตรา 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะไม่ส่งผลกระทบทำให้น้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้น เพื่อรองรับมวลน้ำฝนที่จะตกลงมาอีกระลอกหนึ่ง ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็ก จะทำการผันน้ำเข้ากักเก็บไว้ใช้ในระยะยาวต่อไป