20 ปี เฟซบุ๊ก โลกของเราเปลี่ยนไปอย่างไร

มองที่ภาพข้างบนนี้ นี่คือหน้าตาของ “เฟซบุ๊ก” หรือที่รู้จักในเวลานั้นว่า “เดอะ เฟซบุ๊ก” เปิดตัวออกมาโดย มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ท่ามกลางเพื่อนจำนวนหนึ่งจากบ้านพักนักศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โซเชียลมีเดียรายนี้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก และมีการปรับภาพลักษณ์อยู่หลายต่อหลายครั้ง

แต่เป้าหมายของเฟซบุ๊กก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือเชื่อมต่อผู้คนบนโลกออนไลน์ และแสวงหารายได้จำนวนมหาศาลผ่านการโฆษณา

ปีนี้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่รายนี้กำลังมีอายุครบ 20 ปี นี่ถือ 4 วิถีทางที่อธิบายให้เห็นว่า ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้เปลี่ยนโฉมโลกใบนี้ไปอย่างไร

1. เฟซบุ๊ก คือ ผู้พลิกเกมธุรกิจสื่อโซเชียลมีเดีย

แม้ว่าก่อนจะมีเฟซบุ๊ก ได้มีเครือข่ายสังคมออนไลน์รายอื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น มายสเปซ แต่การที่เว็บไซต์ของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วหลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2004 แสดงให้เห็นว่า ถึงความสำเร็จของเฟซบุ๊ก

ทอมผู้เคยเป็นเพื่อนคนแรกของทุกคนบน มายสเปซ แพลตฟอร์มโดย ทอม แอนเดอร์สัน ที่เปิดตัวก่อนเฟซบุ๊กหนึ่งปี© MySpace

เฟซบุ๊กใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งปีในการมีผู้ใช้งานหลักล้านคน และใช้เวลาไม่ถึงสี่ปีในการเอาชนะมายสเปซได้ ด้วย นวัตกรรมเช่นการผู้ใช้งานสามารถ “แท็ก” คนลงบนรูปได้

การออกไปเที่ยวยามค่ำคืนพร้อมกับกล้องดิจิทัล และแท็กเพื่อนของคุณในรูปภาพหลายสิบรูป นับว่าเป็นส่วนสำคัญของชีวิตวัยรุ่นยุคปี 2000 และการเฝ้าดูฟีดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ก็นับเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ใช้งานในยุคแรกๆ ได้

ในปี 2012 เฟซบุ๊กได้มีผู้ใช้งานจำนวนเกินหนึ่งพันล้านต่อเดือน และแพลตฟอร์มนี้ก็ได้เติบโตขึ้นอยู่เสมอๆ ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆ ในปลายปี 2021 ที่จำนวนผู้ใช้งานลดลงเป็นครั้งแรกเหลือ 1.92 ล้านคน

เฟซบุ๊กสามารถรักษาฐานผู้ใช้งานไปพร้อม ๆ กับการขยายกลุ่มผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยการขยายธุรกิจไปยังประเทศที่ยังคนยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่มากนัก ด้วยการนำเสนอบริการพ่วงอินเทอร์เน็ตฟรี โดยในปี 2023 เฟซบุ๊กรายงานว่า มีผู้ใช้งานมากกว่า 2.11 พันล้านคนต่อวัน

ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา เมตารายงานผลประกอบการในไตรมาสุดท้ายของปี 2023 มีรายได้มากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการให้บริการโฆษณาเจาะกลุ่ม ขณะที่กำไรอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เป็นที่ยอมรับกันว่า ตอนนี้เฟซบุ๊กเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ๆ น้อยลงจากเดิม แต่ก็ยังเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก และได้เปิดยุคสมัยใหม่ของกิจกรรมบนสังคมออนไลน์

บางคนมองว่า เฟซบุ๊กและคู่แข่งรายอื่น ๆ เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมในการติดต่อสื่อสารกัน แต่หลายคนกลับมองว่า มันคือตัวแทนที่เสพติดเพื่อการทำลายล้างต่างหาก

2. เฟซบุ๊กทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเรามีมูลค่า…และเป็นส่วนตัวน้อยลง

เฟซบุ๊กได้พิสูจน์ว่า การเก็บข้อมูลจากการความชอบและความไม่ชอบของพวกเราเพื่อนำไปสร้างกำไรมหาศาล

20 ปี เฟซบุ๊ก โลกของเราเปลี่ยนไปอย่างไร© Facebook

ในทุกวันนี้ เมตาในฐานะบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กได้กลายยักษ์ใหญ่ด้านโฆษณาคู่กับกูเกิล โดยครองส่วนแบ่งเงินโฆษณาจากทั่วโลกเป็นจำนวนมหาศาล

เมตาได้รายงานถึงรายได้เกือบ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่สามของปี 2023 โดยส่วนใหญ่มาจากการนำเสนอบริการโฆษณาเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพให้กับผู้ทำการโฆษณา โดยทำกำไรกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทว่า ผลจากการเก็บข้อมูลดังกล่าวของเฟซบุ๊กก็สามารถนำไปสู่ความผิดพลาดได้เช่นกัน โดยที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่ เมตาถูกสั่งปรับเป็นเงินหลายครั้ง จากการจัดการข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานผิดพลาด

โดยกรณีที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดคือ กรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับ เคมบริดจ์ อนาไลติกา ในปี 2014 ซึ่งทำให้เฟซบุ๊กต้องจ่ายค่าปรับ 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดการกับการถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเนื่องจากการละเมิดข้อมูลครั้งสำคัญ

ต่อมาในปี 2018 นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเฟซบุ๊ก ประกาศในโพสต์ที่เขาเรียกว่า ความท้าทายส่วนตัวสำหรับปี 2018 ว่าจะ “แก้ไข” เฟซบุ๊ก หลังจากพบข้อบกพร่องมากเกินไปจากการบังคับใช้นโยบายต่าง ๆ รวมทั้งการป้องกันไม่ให้เครื่องมือที่มี ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และเฟซบุ๊กเตรียมคุมเนื้อหาให้เห็นข่าวน้อยลง เน้นเพื่อนฝูงและครอบครัว

ในปี 2022 เฟซบุ๊กต้องจ่ายเงินค่าปรับให้กับสหภาพยุโรปเป็นเงินราว 265 ล้านยูโรเนื่องจากปล่อยให้มีคัดลอกข้อมูลส่วนตัวออกจากเว็บไซต์

ปีที่แล้ว บริษัทได้ถูกสั่งปรับเป็นเงินจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ จากคณะกรรมการปกป้องข้อมูลของไอร์แลนด์ ราว 1.2 พันล้านยูโร จากกรณีถ่ายโอนถ่ายข้อมูลผู้ใช้งานออกไปนอกขอบเขตอำนาจศาล เฟซบุ๊กอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์คำสั่งปรับดังกล่าว

3. เฟซบุ๊กทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ทางการเมือง

ด้วยการให้บริการโฆษณาที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ เฟซบุ๊กจึงได้กลายเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ถูกใช้เป็นช่องทางในการหาเสียงเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ใช้เงินมากกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปในการทำโฆษณารณรงค์หาเสียงผ่านเฟซบุ๊ก© Reuters

ยกตัวอย่าง ในช่วงห้าเดือนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้เงินมากกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปกับการทำโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ตามข้อมูลจากงานวิจัยของสตาติสตา

เฟซบุ๊กมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับรากหญ้าด้วย โดยทำให้ผู้ใช้งานที่แตกต่างกันมารวมตัวกัน จัดทำการณรงค์ และแผนการดำเนินการต่าง ๆ ในระดับโลก

เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ถูกมองว่า มีบทบาทสำคัญในช่วงอาหรับสปริง ด้วยการเป็นช่องทางประสานจัดตั้งการประท้วง และการเผยแพร่ข่าวสารว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่

แต่ การนำเฟซบุ๊กไปใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง ได้ถูกวิจารณ์ถึงผลลัพธ์ที่ตามมาบางประการ เช่น ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2018 เฟซบุ๊กได้เห็นด้วยกับรายงานของสหประชาชาติ ที่ระบุว่าเฟซบุ๊กได้ล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้ผู้คนใช้แพลตฟอร์มเพื่อสร้างความรุนแรงในโลกออฟไลน์หรือในชีวิตจริง จากกรณีความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์

4. เฟซบุ๊กเป็นจุดเริ่มต้นอำนาจและอิทธิพลของเมตา

จากความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของเฟซบุ๊ก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กได้สร้างอาณาจักรเครือข่ายสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในแง่ของผู้ใช้งานและพลังอำนาจที่ตามมา

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก© Reuters

บริษัทที่กำลังมาแรง เช่น วอตส์แอปป์, อินสตาแกรม และโอคูลัส ล้วนถูกซื้อกิจการเพื่อมาเสริมทัพภายใต้ชายคาของบริษัทแม่อย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมตาในปี 2022

เมตาบอกว่า มีผู้คนมากกว่าสามพันล้านคนที่ได้ใช้บริการบนอย่างน้อยหนึ่งแพลตฟอร์มจากบริษัทในแต่ละวัน

และในกรณีที่ไม่สามารถซื้อคู่แข่งได้ เมตามักจะถูกกล่าวหาว่า ลอกเลียนแบบคู่แข่งเหล่านั้น เพื่อรักษาความเหนือกว่าของตัวเองต่อไป

ฟีเจอร์สตอรี่บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม มีความคล้ายกับฟีเจอร์หลักที่ถูกพบได้บนสแนปแชต ขณะที่รีลส์บนอินสตาแกรมได้กลายเป็นคำตอบของบริษัท ต่อความท้าทายจากแอปพลิเคชันแบ่งปันวิดีโออย่าง ติ๊กตอก ส่วนเธรดก็คือ ความพยายามของเมตาที่จะเลียนแบบเอ๊กซ์ ซึ่งเคยถูกเรียกว่าทวิตเตอร์

กลวิธีต่างๆ ได้มีความสำคัญขึ้นกว่าเดิม เพราะจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นและสภาพแวดล้อมที่ถูกกำกับอย่างเข้มงวดมากขึ้น

ในปี 2022 เมตาถูกบังคับให้ขายจิฟฟี บริษัทผู้สร้างไฟล์จิฟ แบบขาดทุน หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหราชอาณาจักรปฏิเสธไม่ให้เมตาเป็นเจ้าของบริการนี้ เพราะกังวลถึงอิทธิพลเหนือตลาดที่มากจนเกินไป

20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

การเติบโตและอิทธิพลที่ดำรงอยู่ต่อไปของเฟซบุ๊ก คือ เครื่องพิสูจน์ความสามารถของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ว่าจะทำอย่างไรให้เฟซบุ๊กยังคงมีความสำคัญต่อผู้คน

แต่การรักษาตำแหน่งให้เป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมที่สุดต่อไป จะเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งใน 20 ปีข้างหน้า

ตอนนี้เมตากำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อสร้างธุรกิจด้วยแนวคิดเมตาเวิร์ส ซึ่งบริษัทถือเป็นผู้นำในด้านนี้เหนือคู่แข่งยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง แอปเปิล

ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เป็นสิ่งที่เมตาให้ความสำคัญมาก ๆ เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อบริษัทกำลังขยับออกห่างจากรากฐานของเฟซบุ๊ก มันจึงน่าสนใจว่าอนาคตของแอปสีนำเงินตัวเล็กๆ นี้จะเป็นอย่างไร

รายงานเพิ่มเติมโดย อิมาน โมฮัมเหม็ด

ภาพถ่ายโดย ไนออล เคนเนดี

BBC News ไทย

BBC News ไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า